วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โครงการในพระราชดำริ "พิกุลทอง"



ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ในระหว่างวันที่ ๑๘ สิงหาคม - ๓ ตุลาคม ๒๕๒๔ พระองค์เสด็จฯเยี่ยมราษฎร โดยทั่วไปในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่ และความจำเป็นที่จะยกระดับความเป็นอยู่ภาวะเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาสให้ดีขึ้น จึงได้มีพระราชดำริและพระราชกระแสรับสั่งต่อเจ้าหน้าที่และผู้ติดตามเสด็จฯ ให้พิจารณาปรับปรุงการพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่พรุ ได้มีพระราชกระแสรับสั่งถึง ม.จ.จักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรี นายชิต นิลพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายเล็ก จินดาสงวน ผู้ช่วยอธิบดีกรมชลประทาน นายวารินทร์ บุษบรรณ เกษตรจังหวัดนราธิวาส นายอำเภอท้องที่ และข้าราชการอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
พื้นที่จำนวนมากในจังหวัดนราธิวาสเป็นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำขังตลอดปี ดินมีคุณภาพต่ำ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ ไร่ เกษตรกรส่วนมากไม่มีที่ดินทำกิน แม้เมื่อระบายน้ำออกแล้วก็ยังยากที่จะใช้ประโยชน์ทางการเกษตรให้ได้ผล ทั้งนี้เนื่องจากดินมีสารประกอบไพไรท์ เมื่อแห้งทำให้เกิดกำมะถัน เป็นสาเหตุให้ดินเปรี้ยว ควรปรับปรุงดินให้ดีขึ้น โดยให้พนักงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการศึกษาและพิจารณาพื้นที่พรุร่วมกันแบบผสมผสาน และนำผลสำเร็จของโครงการไปเป็นแบบอย่างในการที่จะพัฒนาพื้นที่พรุอื่นในโอกาสต่อไป หลังจากพระองค์ทรงมีพระราชดำริแล้ว ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างจังหวัดและสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิเศษเพื่อการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) โดยมี ม.จ.จักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เป็นประธาน เพื่อกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา โดยใช้ชื่อว่า "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง" ซึ่งกำหนดแนวทางในการดำเนินงานโครงการโดยยึดหลักพระราชดำริเป็นแนวทาง และ กปร. มีมติอนุมัติหลักการในการดำเนินงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๒๕ โดยให้สำนักงานเลขานุการ กปร. เป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินการจัดทำแผนงานและงบประมาณสนับสนุน
วัตถุประสงค์

(๑) เพื่อศึกษาและพัฒนาดินอินทรีย์ รวมทั้งดินที่มีปัญหาอื่น ๆ ในพื้นที่พรุให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางการเกษตร และด้านอื่น ๆ ตามข้อกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่พรุที่แบ่งเป็นเขตสงวน เขตอนุรักษ์ และเขตพัฒนาไว้แล้ว
(๒) วิเคราะห์ ทดลอง วิจัย ทดสอบ เกี่ยวกับการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งการเกษตรอุตสาหกรรม ที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่พรุ และให้ผลตอบแทนสูงสุด
(๓) เป็นศูนย์กลางบริการข้อมูลด้านการวิเคราะห์ตัวอย่างในห้องปฏิบัติการรวมทั้งเป็นศูนย์กลางการสาธิต เผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตรสาขาอื่น ๆ
(๔) เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมการพัฒนาอาชีพ ทั้งด้านการเกษตรและศิลปหัตถกรรมที่ทำจากวัสดุพื้นเมือง ให้กับราษฎรทั้งในหมู่บ้านบริวาร ศูนย์สาขาและผู้สนใจทั่วไป
(๕) เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ราษฎร และพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ความจำเป็นพื้นฐานของหมู่บ้านบริวาร และศูนย์สาขา ให้สูงขึ้น
(๖) เพื่อนำผลการศึกษาและพัฒนาไปเป็นแบบอย่างใช้กับโครงการพัฒนาแหล่งอื่น ๆ ต่อ

ที่มา:http://web.ku.ac.th/king72/2526/pikun.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น