วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โครงการในพระราชดำริ "หินซ้อน"



ในการดำเนินงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เป็นไปตามพระราชดำริ และบรรลุวัตถุประสงค์ ควรจะได้ดำเนินการโดยมีหลักการสำคัญ ๆ คือ
1 ) การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
2 ) การพัฒนาต้องเป็นไปตามขั้นตอน ตามลำดับความจำเป็น และประหยัด
3 ) การพึ่งตนเอง
4 ) การส่งเสริมความรู้และเทคนิควิชาการสมัยใหม่ที่เหมาะสม
5 ) การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ
6 ) การส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม

1 ) การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
มุ่งช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความทุกข์ยาก เดือดร้อน ที่ราษฎรกำลังประสบ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัส ถึงความจำเป็นนี้ว่า
"" …..ถ้าปวดหัวก็คิดอะไรไม่ออก ….เป็นอย่างนั้นต้องแก้ไขการปวดหัวนี้ก่อนแต่ปวดหัว ใช้ยาแก้ปวด… หรือยาอะไรก็ตามแก้ปวดหัวมันไม่ได้แก้อาการจริง แต่ต้องแก้ปวดหัวก่อน เพื่อที่จะให้อยู่ในสภาพที่คิดได้แล้วอีกอย่างก็คือ แบบ Macro นี้ เขาจะทำแบบรื้อทั้งหมด ฉันไม่เห็นด้วย… อย่างบ้านคนอยู่เราบอกบ้านนี้มันผุตรงโน้น ผุตรงนี้ ไม่คุ้มที่จะไปซ้อม… เอาตกลงรื้อบ้านนี้ระเบิดเลย เราจะไปอยู่ที่ไหน ไม่มีที่อยู่ ก็ต้องค้ำเสียก่อนแล้วค่อย ๆ ทำ จะไประเบิดหมดไม่ได้… ""

2 ) การพัฒนาต้องเป็นไปตามขั้นตอน ตามลำดับความจำเป็น และประหยัด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้คำว่า " ระเบิดจากข้างใน " นั่นคือทำให้ชุมชนหมู่บ้าน มีความเข้มแข็งก่อนแล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การเอาความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชน หมู่บ้านที่ยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว ดังแนวพระราชดำรัสต่อไปนี้
""… การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและ อุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานที่มั่นคงพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หาก มุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชน โดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจจะกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยะประเทศหลายประเทศที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้…
การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพ และตั้งตัวให้มีความพอกิน พอใจ ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงในต่อไป โดยแน่นอนส่วนการถือหลักที่จะ ส่งเสริมความเจริญให้ค่อยเป็นไปตามลำดับ ด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลว และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์ …""

3) การพึ่งตนเอง
การพัฒนาให้ประชาชนสามารถอยู่ในสังคมได้ตามสภาพ และสามารถ "พึ่งตนเองได้" ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งซึ่งขออัญเชิญมา ณ ที่นี้คือ
"… การเข้าใจถึงสถานการณ์ของผู้ที่เราจะช่วยเหลือนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การช่วยเหลือให้เขาได้รับสิ่งที่เขาควรจะได้รับตามความจำเป็นอย่าง เหมาะสม จะเป็นการช่วยเหลือที่ได้ผลดีที่สุด เพราะฉะนั้นในการช่วยเหลือแต่ละครั้งแต่ละกรณี จำเป็นที่เราจะพิจารณาถึงความต้องการและความจำเป็นก่อน และต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่เราจะช่วยให้เข้าใจด้วยว่าเขาอยู่ ในฐานะอย่างไร สมควรที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร เพียงใด อีกประการหนึ่งในการช่วยเหลือนั้น ควรยึดหลักสำคัญว่า เราจะช่วยเขาเพื่อให้เขาสามารถช่วยตนเองได้ต่อไป…"

4) การส่งเสริมความรู้และเทคนิควิชาการสมัยใหม่ที่เหมาะสม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าควรที่จะสร้างเสริมสิ่งที่ชาวบ้านชนบทขาดแคลนซึ่งก็คือความรู้ในการทำมาหากิน การทำการเกษตรโดยให้เทคโนโลยีสมัยใหม่ พระองค์ทรงเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมี "ตัวอย่างของความสำเร็จ" มีพระราชประสงค์ที่จะให้ราษฏรในชนบทมีโอกาสได้รู้ได้เห็นตัวอย่างของ ความสำเร็จนี้และนำไปปฏิบัติได้เอง พระองค์จึงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง "ศูนย์ศึกษาพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาทดลอง วิจัยและแสวงหาความรู้ เทคนิควิชาการสมัยใหม่ที่ราษฎร "รับได้" นำไป "ดำเนินการเองได้" และเป็นวิธีที่ "ประหยัด" เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการประกอบอาชีพของราษฏร ที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศนั้นๆ

5) การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ
พระองค์ทรงเห็นว่าการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติจะมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาการเกษตร จึงทรงมุ่งที่จะให้มีการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนา ประเทศ ในระยะยาว พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ในการทำนุบำรุงปรับปรุงสภาพของทรัพยากร ธรรมชาติต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพที่มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างมากที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อจะเป็น การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนสู่สภาพเดิมและยังได้ส่งเสริมให้ราษฏรรู้จักการใช้ทรัพยากรที่มี อยู่อย่างจำกัดอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อประโยชน์ในระยะยาว

6) การส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ช่วงแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ( ปี 2530-2534) ปรากฏว่าเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่สูงและรวดเร็ว โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศได้เปลี่ยนไปสู่การผลิตที่มีภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นหลัก มีผลทำให้สังคมไทย เริ่มเปลี่ยน จากสังคมชนบทสู่ความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ความเจริญส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่ในเมืองหลักๆ ในภูมิภาคต่างๆ และรอบกรุงเทพมหานคร ในขณะเดียวกันได้ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริ ที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ที่มา :http://www.ldd.go.th/web_study_center/khoahinson/hinsub/dumri1.asp

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น